เว็บไซต์รวบรวมพรรณไม้ในโรงเรียนสุราษฎร์ธานี
กันเกรา
ชื่อกันเกรานั้นเป็นไม้ยืนต้น
แสนทานทนส่วนใหญ่ใช้ทำบ้าน
ลําต้นเรียบเปลือกมีสีน้ำตาล
ดอกก่อนบานนั้นมีสีขาวเหลือง
ผลสีส้มกลมเกลี้ยงเมื่อยามอ่อน
แดงฉานร้อนยามสุกหอมฟูเฟื่อง
ใช้บํารุงหลอดเลือดให้ประเทือง
คนทั้งเมืองต่างนิยมชมชอบกัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Fagraea fragrans
ชื่อสามัญ : Tam sao
ชื่ออื่น : มันปลา (ภาคเหนือ ภาคอีสาน), ตำแส ตำเสา ทำเสา (ภาคใต้), ตาเตรา (เขมร-ภาคตะวันออก), ตำมูซู ตะมะซู (มลายู-ภาคใต้)
บริเวณที่พบในโรงเรียนสุราษฎร์ธานี : บริเวณหน้าอาคาร 5
ถิ่นกำเนิด : ป่าเบญจพรรณและตามที่ใกล้กับแหล่งน้ำ ในประเทศไทย พม่า มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย
ลักษณะทั่วไป :
ต้นกันเกราเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-15 เมตร (อาจสูงได้ถึง 25 เมตร) เปลือกต้นเรียบมีสีน้ำตาล เมื่อต้นแก่จะแตกเป็นร่องลึกตามยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ มีถิ่นกำเนิดตามป่าเบญจพรรณและตามที่ใกล้กับแหล่งน้ำ ในประเทศไทย พม่า มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย สำหรับในบ้านเราต้นกันเกราขึ้นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย แต่จะพบได้มากทางภาคใต้
ประโยชน์ :
ใช้ปลูกไว้เป็นไม้ประดับได้เป็นไม้มงคลที่ใช้ในการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ใบอ่อนกันเกราสัตว์ป่าชอบกินเป็นอาหาร ผลกันเกราใช้เป็นอาหารของนกและค้างคาวได้ ดอกกันเกรานำมาใช้ในพิธีกรรมหนึ่งของการเข้านาคเนื้อไม้ของต้นกันเกรามีสีเหลืองอ่อน มีเสี้ยนตรง เนื้อมีความละเอียด ตกแต่งได้ง่าย ขัดเงาก็งดงาม ทนปลวกได้ดี ที่สำคัญยังเหนียวทนทานแข็งแรงอีกด้วย เหมาะแก่การนำมาใช้ก่อสร้าง